ทุกสิ่งที่ทำเรามีเหตุจูงใจในการแสวงหาความสุขใช่หรือไม่ แล้วความสุขที่แท้จริงเป็นเช่นไร ใครที่ขโมยความสุขของเราไป หรือเพียงล่อลวงให้เราอยู่กับความสุขจอมปลอม นั่นคือมายา ภาพลวงตาลวงใจให้แสวงหาไม่จบสิ้น

ให้เราลองถามตนเองว่าฉันต้องการจะฟื้นฟู
เอาความสุขที่แท้จริงกลับคืนสู่ชีวิตหรือไม่
ดังนั้นการเอาชนะมายา คือ ความสุขในการแก้ปัญหาความหลอกลวงที่ให้ความทุกข์ทุกรูปแบบ หากมีความสุขจากมายา ความพอใจนั้นไม่ได้มาจากการคิดเปลี่ยนแปลงตนเอง


ความสุขที่แท้จริง เป็นสภาวะภายในของเราเองที่เป็นธรรมชาติ ประกอบไปด้วยความรู้สึกหลักๆ 3 ประการนี้ ได้แก่
  • ความพอใจ : ความสุขต้องไม่ใช่ความพอใจที่ปะปนกับความเกียจคร้าน เหมือนโดนยานอนหลับ ไม่ลุก ไม่ตื่น หรือไม่สนใจใยดีอะไรเลย ความพอใจจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่มีความอยากปรารถนาใดๆกับใครหรืออะไรทั้งสิ้น เพราะเราตระหนักได้ว่าไม่มีความต้องการอะไรหรือใครอีกแล้วที่ทำให้เรามีความสุข จึงเป็นความพอใจจากข้างในมากกว่า ตราบใดที่ยังมีความปรารถนา ก็ต้องมีความไม่พอใจรออยู่ ความพอใจเกิดขึ้นในเวลาที่เรายอมรับทุกคนอย่างที่เขาเป็น ยอมรับทุกสิ่งที่ควรจะเป็น ทุกแห่งหน ทุกเวลา ทุกขณะ เป็นการยอมรับอย่างสงบเย็นจากข้างในที่ตระหนักรู้ได้ว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ไม่มีฉากใดในละครหรือใครที่สามารถรบกวนเราได้เลย ความคิดเห็นของเราไม่ผูกติดกับอะไร หรือ ต้องการให้ใครเป็นอย่างใจ ความพอใจจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรหรือใครในโลกเลย
  • ความเบิกบาน : ความสุขต้องไม่ใช่ความเบิกบานที่มาพร้อมกับเสียงกรีดร้องด้วยความตื่นเต้น เช่น โอ้! ฉันได้ลูกคนใหม่แล้ว ความเบิกบานเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติจากข้างใน เป็นรูปแบบของความสร้างสรรค์ที่ลึกล้ำที่สุด ไม่ใช่แค่การวาดรูปสวยๆ หรือ ร่ายมนต์ ร่ายกลอน บทกวีอะไร หรือ แม้จะทำบางสิ่งในโลกให้ใครเห็น แต่เป็นความสร้างสรรค์ที่ทำให้เราเอาธรรมชาติหรือสภาวะที่แท้จริงของเรา นั่นคือ ความสงบ ความรัก ออกมาใช้ในโลก อาจเป็นรูปแบบต่างกันด้วยเจตนา ความคิด ทัศนคติ พฤติกรรม ที่เป็นไปเพื่อให้ความสุข ความสงบ ให้คุณสมบัติดั้งเดิมของแต่ละคนปรากฏ นี่คือรูปแบบแรกที่เราต้องสร้าง ถ้าการสร้างสรรค์ของเราไม่ได้อยู่บนฐานของสิ่งนี้จะต้องระวัง เพราะการใช้ชีวิตที่เราควรจะมีโอกาสสร้างความตื่นตัว มีการสร้างสรรค์ มีชีวิตชีวาจากการตระหนักได้ว่าเรานั้นไม่ใช่รูปที่เป็นตัวตน ไม่ใช่ร่าง เป็นเพียงแค่พลังงานของจิตสำนึกของเราเองที่ต้องสร้างมันขึ้นมาเท่านั้น เปรียบเทียบกับการสร้างภาพเคลื่อนไหว (Animation) เป็นศิลปะที่ทำให้การ์ตูนมีชีวิต เคลื่อนไหว ออกมาเป็นตัวตนจับต้องได้ ดังนั้นพลังงานจากจิตสำนึกของเราก็สร้างรูปแบบของการมีตัวตน ให้เกิดความเบิกบานโดยไม่ได้เป็นการไปเอาอะไรจากชีวิต แต่เป็นการสร้างชีวิตของเรากับผู้อื่น
  • ความปิติสุข : ความสุขต้องไม่ใช่ความปิติที่เป็นเหมือนการดื่มด่ำกับชัยชนะปลอมๆ เช่น โอ้! ทีมฉันชนะ พวกเราชนะแล้ว ความปิติสุขจะเกิดเป็นธรรมชาตินานเท่าที่เรายังอยู่อย่างเป็นอิสระภายใน คำว่าปิติสุขจึงต้องมาพร้อมกับคำว่าอิสรภาพภายในเสมอ เหมือนนกที่โผผินโบยบินไปมาบนฟากฟ้าอย่างมีอิสระ และเมื่อเปรียบเทียบด้านจิตวิญญาณ เราเคยรู้สึกถึงความปิติสุขจากอิสรภาพเช่นนี้ไหม อาจจะนานๆที นั่นเป็นเพราะเราส่วนใหญ่ข้างในไม่มีอิสระ ได้เรียนรู้ที่จะผูกพันยึดมั่นและกลัวการสูญเสีย ไม่ว่าต่อวัตถุสิ่งของ ต่อบุคคล หรืออะไรก็ตามในชีวิต เรายึดอยู่ที่ไหนก็ทอดสมอเรือไว้ที่นั่น ไม่ยอมไป เราก็นึกว่ามั่นคง แต่เมื่อคลื่นมา เรือก็โคลงเคลงแกว่งไปมาอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ไปไหนเลย มีการสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลา เราทำลายอิสรภาพภายในด้วยรูปแบบใดก็ตามของความผูกพันยึดมั่น ที่ใดมีการยึดมั่นที่นั่นจะมีความกลัว และถ้าที่ใดมีความกลัวที่นั่นจะไม่มีทางพบความสุขที่แท้จริงได้เลย
ความเชื่อที่เป็นพิษของการหาความสุขแบบผิดๆ
ในกระบวนการเกิดสายน้ำ ทันทีที่น้ำฝนตกลงมาจากก้อนเมฆ ก็เริ่มถูกมลพิษปนเปื้อนจนเสียความบริสุทธิ์ดั้งเดิม ท็อกซินหรือพิษร้ายทั้งหลายได้รวมอยู่ในน้ำนั้น แม้กระทั้งน้ำดื่ม เมื่อรู้ว่าในน้ำมีสารพิษปนเปื้อนอยู่มากมาย เราก็ใช้เงินทองอย่างมากเพื่อทำให้น้ำกลับมาบริสุทธิ์ ด้วยการกรองเอาสารพิษออก เช่น ฟลูออไรด์ คลอรีน สารไดดิโอเอ็กทีฟ สารกัมมันตรภาพรังสี สารโลหะหนัก สารหนู เช่นเดียวกันกับความสุขดั้งเดิมนั้นบริสุทธิ์ เป็นสภาพธรรมชาติของจิตสำนึกของเราเอง และแล้วจิตสำนึกก็ถูกปนเปื้อนเข้าไปด้วยสารพิษหลายชนิด ซึ่งเราจะรู้ได้ตราบจนกระทั่งเราได้ตรวจสอบตนเอง ดังนั้นการฝึกจิต การไตร่ตรองความรู้ และการฝึกฝนจะช่วยให้เรารู้ทิศทางว่าต้องเดินไปทางไหน อย่างไร เป็นของจริงหรือของปลอม อะไรทำให้ความสุขโดยธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของเราหายไป เมื่อเห็นสิ่งที่ปนเปื้อน เราย่อมต้องการเป็นอิสระ ดังนั้นเราต้องเอาชนะมายาให้ได้
สิ่งแรกเราจำเป็นต้องมีโค้ช (ผู้ฝึกสอน) ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้เราได้รับการฝึกฝนและถามคำถามที่ถูกต้องกับตนเองว่า ในการเพิ่มสำนึกรู้ในตนเองและปลูกฝังการเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าอะไรกำลังเข้ามากีดขวางในหนทางความสุข ทดสอบดูว่าความสุขนั้นเป็นธรรมชาติไหม หรือเป็นแค่ทฤษฎีเฉยๆ หรือสามารถที่จะหาคำถามที่ถูกต้องเพื่อใช้สะท้อนความคิดความรู้สึกของเราอย่างดี ที่ช่วยให้เราตระหนักรู้ว่านี่คือ ท็อกซิน หรือ พิษที่อยู่ในจิตสำนึกของเราเอง ซึ่งปนเปื้อนจนกระทั่งกลายเป็นการให้ยาพิษแก่ธรรมชาติของความสุขของตนเอง ความสุขก็เลยเจือปน แบบที่ไม่ใช่ของแท้เลย เหมือนน้ำจากก็อกที่ดูว่าบริสุทธิ์ แต่จริงๆแล้วเราก็รู้ว่าไม่บริสุทธิ์ เหมือนจะเป็นความสุข แต่ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะความรู้สึกของเราขึ้นอยู่กับบางสิ่งบางคน ขึ้นๆลงๆอย่างแรง และทำให้เราเสียพลังงาน
เราจึงต้องมองดูสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนว่ามันมีพิษอะไรปนเปื้อนอยู่ในสำนึก สิ่งนี้คือความเชื่ออะไรบางอย่าง กลายเป็นนิสัยของการหาความสุขผิดๆ ที่ฝังรากอยู่ในจิตสำนึก ถ้าไม่เราไม่เคยสำรวจตนเองเลยวันหนึ่งมายาต้องทำให้เราล้มและพลาดพลั้งอย่างแน่นอน

7 ความเชื่อที่เป็นพิษ (Toxic Beliefs)
  1. การแสวงหาทำให้เรามีความสุข (Acquisition makes me happy)
    เราเชื่อว่าถ้าเราได้อะไรมา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือ ครอบครองเป็นเจ้าของใคร เช่น คู่ชีวิต หรือ ลูก จะทำให้เรามีความสุข แต่นั่นกลับเป็นความสุขชั่วคราว และสร้างแต่ความอยากได้ไม่รู้จบ ทั้งที่บางครั้งการได้มากลับเป็นภาระหรือเรื่องราวให้ต้องคิดวิตกกังวลมากขึ้นด้วย ดังนั้นถ้าเราไม่ระวัง ก็จะกลายเป็นการกอบโกยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ปลอมๆ ของตนขึ้นมา หวังให้คนอื่นติดใจ เห็นว่าเรายิ่งใหญ่ประสบความสำเร็จ โดยมากผู้คนมักจะปะปนคำว่า “สมบัติ” (Wealth) เข้ากับ “คุณค่า” (Worth) ในตนเอง และคิดว่าการกอบโกยมีทุกสิ่งคือคุณค่าของเรา สิ่งนี้คือการเสพติดที่พยายามจะมีความสุข เพราะสร้างความตื่นเต้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบ้านใหม่ รถใหม่ แฟชั่นต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความเบื่อหน่าย และหมดแรงได้ในที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องขจัดความเชื่อแบบนี้ออกไป มิเช่นนั้นจะกลายเป็นนิสัยหรือการเสพติดในการสะสมกักตุน
    คำถามเพื่อตรวจสอบตนเอง : ฉันยังต้องการอะไรที่เชื่อว่าจะทำให้ฉันมีความสุข เขียนรายการแล้วถามตนเองให้แน่ใจว่าสิ่งนั้นจะให้ความสุขได้จริงๆ
  2. ความสำเร็จของงานทำให้เรามีความสุข (Achievement makes me happy)
    เมื่อเราตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จ เราจะทุ่มเททั้งเวลาและพลังจนงานสำเร็จขึ้นมาได้ ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร และผู้อื่นก็เห็นดีด้วย แต่ความเชื่อที่ว่าความสำเร็จจะนำความสุขมาให้ ทำให้ในขบวนการบรรลุเป้าหมาย เกิดสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุขขึ้น 2 สิ่ง คือ เราชะลอความสุขของเราจนกระทั่งถึงเป้าหมาย และเราได้สร้างความกลัวความวิตกกังวลว่าจะทำไม่ได้ให้เกิดขึ้น บางครั้งก็เป็นความเชื่อที่ละเอียดกว่านั้นว่าเรามีค่าพอที่จะมีความสุขขนาดนั้นเชียวหรือ เราต้องทำงานหนักมากขนาดนี้เลยหรือเพื่อที่จะอยู่อย่างมีความสุข เราต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนขนาดไหนเพื่อที่จะบรรลุถึงความสุขของตนเอง ซึ่งบ่อยครั้งเราใช้คำว่า “โอ้โฮ! นี่มันเป็นอะไร จะเอาอย่างไรนี่”
    คำถามเพื่อตรวจสอบตนเอง : ฉันกำลังมีเป้าหมายที่จะบรรลุถึงความสำเร็จอะไร ที่เชื่อว่าจะทำให้ฉันมีความสุข เขียนรายการแล้วถามตนเองให้แน่ใจว่าสิ่งนั้นจะให้ความสุขได้จริงๆ
  3. ความตื่นเต้นเท่ากับความสุข (Excitement equals happiness)
    สมัยเด็กๆ พ่อแม่เคยพาเราไปเที่ยว ไปดูการแข่งขันกีฬา แล้วเราก็ตื่นเต้น เราได้ถูกถ่ายทอดความเชื่ออันหลอกลวงมาว่าความตื่นเต้นเท่ากับความสุข รวมถึงการที่เราทำอะไรสำเร็จบรรลุเป้าหมายแล้วตื่นเต้นดีใจ เราจึงเรียกว่าเป็นความสุขด้วยเช่นกัน ความตื่นเต้นนั้นเหมือนกาน้ำเดือด น้ำจะกระเพื่อมปุดๆขึ้น แต่ความสุขที่แท้จริงไม่ใช่การถูกก่อกวน ถูกเร้า ให้ปั่นป่วนแบบนั้น ความสุขเป็นสภาพของความพอใจ เป็นความไหลรินของความเบิกบานแจ่มใสโดยธรรมชาติจากหัวใจออกไปสู่โลก
    คำถามเพื่อตรวจสอบตนเอง : ฉันใช้อะไรที่ทำให้ตนเองตื่นเต้นด้วยการเชื่อว่าสิ่งนั้นทำให้ฉันมีความสุข เขียนรายการแล้วถามตนเองให้แน่ใจว่า ความตื่นเต้นเหล่านั้นคือความสุขที่แท้จริง
  4. ความสุขนั้นขึ้นอยู่กับผู้อื่น (Happiness is dependent on other)
    บางครั้งเราคิดว่าฉันมีความสุขมากเลยที่เธอพูดอย่างนั้น เธอทำให้ฉันมีความสุขเหลือเกิน ถามตนเองว่าจริงหรือที่คนอื่นทำให้เรามีความสุข เราได้ลืมไปแล้วว่าเราต้องรับผิดชอบต่อสภาวะจิตและความสุขของตนเอง การที่เราทำให้ความรู้สึกของเราขึ้นอยู่กับอะไรที่ใครพูด พฤติกรรมของเราขึ้นอยู่กับคำพูดของเขา สิ่งนี้เป็นพิษที่ยากที่สุดที่จะขจัดออกไปจากจิตสำนึก ดังนั้นการตั้งคำถามเป็นกระบวนการที่จะปลดปล่อยตนเองว่าใครที่แท้จริงที่จะให้ความสุขส่วนตัวแก่ฉันได้ ใครเป็นคนรับผิดชอบต่อความสุขของฉันหรือ เราพอใจได้ไหมไม่ว่าเขาจะพูดหรือไม่พูดอะไร ถ้าไม่ ทำไม ทำไมภายในเราถึงขึ้นอยู่กับผู้อื่นและสิ่งที่ผู้อื่นพูดและทำได้ถึงขนาดนี้ อะไรที่ทำให้สำนึกของเราคลุมเครือถึงขนาดนั้นกับความพอใจที่เป็นธรรมชาติจากข้างใน
    คำถามเพื่อตรวจสอบตนเอง : ใครในชีวิตที่ฉันขึ้นอยู่กับเขา เขียนรายการและถามตนเองว่า ฉันมีความสุขจริงหรือ เขารับผิดชอบต่อความสุขของฉันได้จริงหรือ
  5. ความสุขคือผลของความผูกพันยึดมั่น (Happiness is the result of attachment)
    นั่น-นี่เป็นของฉัน บ้านของฉัน รถของฉัน เงินทองของฉัน ลูกของฉัน สามีของฉัน เราผูกพันยึดมั่นกับสิ่งเหล่านี้เพื่อที่จะมีความสุข เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทุกอย่างที่เป็นของฉัน หรือทุกความผูกพันยึดมั่นจะนำความสุขมาให้ เพราะบ่อยครั้งที่มาพร้อมกับความวิตกกังวล ความตึงเครียด แม้กระทั่งเกิดความกลัวอย่างแรงที่จะสูญเสียสิ่งที่เราผูกพัน แต่ละขณะแต่ละคนเหล่านั้นนำมาซึ่งช่วงเวลาที่เราเห็นสภาพที่ไม่มีความสุข เป็นเพียงบางทีที่เราก็เรียนรู้ที่จะอดทนกับความรู้สึกเหล่านั้น บางครั้งเราอาจไปดูหนังที่น่ากลัวมาก ความรู้สึกกลัวถูกก็ปลุกขึ้นมาแล้วเราก็เรียกมันว่าความสุข แล้วบอกผู้อื่นว่า “หนังนี่สุดยอดมาก!”
    คำถามเพื่อตรวจสอบตนเอง : ฉันผูกพันกับอะไรที่เชื่อว่ากำลังให้ความสุขกับฉัน เขียนรายการแล้วถามตนเองให้แน่ใจว่า เขาทำให้ฉันมีความสุข และฉันสามารถจะมีความสุขได้โดยไม่มีเขาไหม ถ้าไม่ได้ เพราะเหตุใด
  6. ความสุขคือการบรรเทาจากความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมาน (Happiness is relief from pain or suffering)
    คนเรามักจะสับสนว่า เราจะมีความสุขเมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานได้จบสิ้นลง เราก็บอกว่า “โอ้! ฉันมีความสุขมากเลยที่ความเจ็บปวดมันหายไปแล้ว” อย่างไรก็ตามความเจ็บปวดเพียงแต่ได้รับการบรรเทาชั่วคราวจากสภาพที่ไม่มีความสุข ซึ่งนี่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงเป็นไปต่อเมื่อเราพร้อมยอมรับความเจ็บปวดของร่างกาย หรือมีปัญญาจนตระหนักได้ว่าเราจะไม่สร้างความทุกข์ทรมานอีกต่อไปแล้ว ความเจ็บปวดเป็นเรื่องของร่างกาย และมันเกิดขึ้นเพียงบางเวลา แต่ความทรมานเป็นเรื่องของจิตใจ อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มันสร้างขึ้นมาด้วยตนเองจากข้างใน เป็นสิ่งสร้างของเรา
    คำถามเพื่อตรวจสอบตนเอง : รูปแบบใดของความเจ็บปวดที่ฉันต้องการจบสิ้นเพื่อจะสามารถมีความสุข ทำรายการได้หรือไม่ ยอมรับได้ไหมกับความเจ็บปวดในเวลานี้ ฉันสามารถตัดสินแยกแยะได้หรือไม่ว่าฉันทำให้ตนเองเจ็บปวดอย่างไร
  7. ความสุขเป็นไปต่อเมื่อมีผลสำเร็จเท่านั้น (Happiness is only possible when there is success)
    นี่เป็นการวางเงื่อนไขอย่างชาญฉลาดของมายาที่ทำให้เราเชื่อว่าชีวิตและโลกนี้คือการแข่งขัน เราสร้างความคิดที่ว่าความสำเร็จเท่ากับชัยชนะ ใครดีใครอยู่ ดังนั้นเราจึงอยู่ด้วยความกลัวการสูญเสีย กลัวที่เราจะอยู่ไม่รอด มันจึงสร้างช่วงเวลาของการไม่มีความสุขขึ้นมา แล้วเราก็เริ่มที่จะเปรียบเทียบความสำเร็จของตนเองกับผู้อื่น และยิ่งเพิ่มเวลาของการไม่มีความสุขมากขึ้น เพราะวันๆ ไม่มีอะไร ขอให้มีความสำเร็จมากกว่าเมื่อวาน มากกว่าผู้อื่นหน่อย ซึ่งเป็นการเดินทางที่เจ็บปวดทรมาน เป็นการใช้จ่ายและการลงทุนที่ไม่มีความเบิกบานข้างในเลย และเป็นสภาพที่เราคิดพึ่งพิงแบบไม่มีความพอใจ ไม่เคยพอใจเลย
    ถ้าเรามองดูนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิคที่เข้าแข่งขัน เขาจะเรียกความสำเร็จนั้นว่าอะไร ความสำเร็จของเขาอยู่ในรูปแบบไหน ความสำเร็จของเขามาพร้อมกับคำว่าไม่มีความสุขอย่างแท้จริง ไม่มีความเป็นธรรมชาติอยู่ข้างในเลย มันเคร่งตึงมาก เขาทำทุกอย่าง ด้วยหน้าตา(เหมือนผี) ไม่มีลักษณะของความสุขเลย แต่เขาก็หลอกตัวเองว่าความสำเร็จนั้นทำให้มีความสุขมาก และเริ่มเชื่อว่าความเจ็บปวดในขบวนการที่บีบคั้นตนเองในทุกรูปแบบเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ ไม่กินไม่นอน ฝึกซ้อมจะเป็นจะตายจนกล้ามเนื้อฉีก มันเป็นความสุขที่ทุกข์ทรมานไม่ได้สร้างสรรค์ให้โลกสวยงามจากภายในได้เลย
    คำถามเพื่อตรวจสอบตนเอง : ฉันมุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จประเภทใดด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ฉันมีความสุข ความสำเร็จประเภทใดที่ทำให้ฉันมีความสุข เขียนรายการแล้วถามตนเองให้แน่ใจว่า สิ่งนั้นนำความสุขที่แท้จริงและเป็นธรรมชาติมาให้ ถ้าไม่ใช่ เพราะเหตุใด
(ขอบคุณ บราเตอร์ ไมค์ จอร์จ สำหรับการแบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเก็บเกี่ยวความสุขที่แท้จริง)

ประสบการณ์ของผู้ร่วมรายการ "ความสุขคือยาวิเศษ" อาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2559 เวลา 10 โมงถึงเที่ยง
อ.จิน ... คลิกเพื่ออ่าน พี่ไก่ ... คลิกเพื่ออ่าน แม่ปุ้ม ... คลิกเพื่ออ่าน


กิจกรรมพิเศษในเดือนมีนาคม 2559
อาทิตย์ 6 มี.ค. ใช้เวลาฝึกจิต ในสำนึกเป็นดวงวิญญาณ ตอนจากร่างกายที่มีตัวตน สำหรับสภาพสุดท้าย(Final stage)

อังคาร 8 มี.ค. ฉลองวันเกิดของชีวาครบรอบ 80 ปี คือวันชีวราตรี (Shiva Ratri) ที่หมายถึงการจุติมาของแสงสูงสุดในเวลากลางคืนที่มืดมิด เพื่อชุบชีวิตใหม่สำหรับโลกใหม่ จึงมีอนุสรณ์ในหนทางของการกราบไหว้บูชา 'ชีวา' มาในอดีต เป็น สัญลักษณ์ชีวาลิงกัม แปลว่า ชีวาผู้มีรูปไข่ เกิดจากจุดแห่งแสง รูปของดวงวิญญาณที่กระจายรัศมีของผู้ทรงอำนาจสูงสุด ท่านสามารถทำให้โลกหลุดพ้นจากกิเลส เหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
เราได้จำลองเหตุการณ์ของการกราบไหว้บูชาชีวาลิงกัม ที่แกะสลักด้วยโคตรเพชร โดยกษัตริย์วิกรม ในวัดแรกของโลก 'วัดโสมนาถ' นี้บ่งชี้ถึงความมั่งคั่ง จากการประดับประดาด้วยเพชรพลอยอันล้ำค่า วีดีทัศน์วัดชีวาที่สำคัญ 12 แห่งทั่วประเทศอินเดีย สะท้อนความรักและศรัทธาต่อแสงชีวา ในสมญานามต่างๆ ตามคุณประโยชน์ที่ท่านให้ โอกาสนี้ เราได้ร่วมเดินทางไปจาริกแสวงบุญแห่งการทรงจำระลึกถึง ในสถานที่ต่างๆ ด้วยเช่นกัน


อาทิตย์ 20 มี.ค. ร่ำลาผู้จาริกที่กำลังจะเดินทางไปมธุบันและครอบครัวมาเลย์ 'บราเตอร์อาลันคาเซนและซิสเตอร์วานาจา’ พร้อมด้วยลูกชายทั้ง 2 ที่กำลังจะเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานประเทศมาเลเซีย เรารับประทานอาหารเย็นริมทะเลสาบ และใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง สำหรับการสงบจิตเพื่อโลก ด้วยเสียงเพลง Light One candle และจุดแสงเทียนที่ทำให้เด็กๆ อยู่ในสมาธิได้อย่างง่ายดายด้วยความหมายของแสงภายในที่คอยปกป้องแสงภายนอกไม่ให้ดับ

เก็บภาพความสุขมาฝากจากมธุบันในเดือนมีนาคม
พี่น้องที่อยู่ประจำมธุบัน มีความสุขในการดูแลพวกเรา ปิคนิควันนั้นที่ Peace Park
มีขนมหวานนานาชาติ รวมทั้งไอสครีมท่ามกลางสวนดอกไม้สวยงาม

โอม ชานติ

© 2024 Brahma Kumaris Thailand. All rights reserved.